ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย (ชาอัสสัม) BETA Version
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงราย (เกษตรที่สูง)

ความเป็นมา

พันธกิจ
1) ศึกษาและพัฒนา ประยุกต์งานด้านการส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูง
2) ถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมสถาบันเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้
3) การให้การแก้ไขปัญหาตามความต้องการของเกษตรกรและชุมชนเกษตรกรอย่างพอเพียง

      พื้นที่ทำงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงราย (เกษตรที่สูง) มีศูนย์ปฏิบัติการย่อยอยู่ 5 ศูนย์ คือ       ศูนย์สาขาแม่ปูนหลวง ศูนย์สาขาห้วยน้ำขุ่น ศูนย์สาขาดอยตุง ศูนย์สาขาดอยผาหม่น และศูนย์สาขาหัวแม่คำ มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมด้านการเกษตร การปลูกพืชเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่สูง ได้แก่ ชา กาแฟ มะคาเดเมีย อโวคาโด และไม้ดอกบนพื้นที่สูง

      การปลูกชาอัสสัมในจังหวัดเชียงรายมีทั้งหมด 41,955 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 7,907 ราย และผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดเชียงราย 42,566 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 4,277 ราย


อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ปลูกชา 19,973 ไร่ เกษตรกร 3,327 ราย
ศูนย์ฯ ได้เข้าปฏิบัติงานที่ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย เกษตรกร 60 ราย
       - บ้านลอจอ, จะแส พื้นที่ปลูกชา 536 ไร่ เกษตรกร 60 ราย  
อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ปลูกชา 22,379 ไร่ เกษตรกร 3,547 ราย
ศูนย์ได้เข้าไปปฏิบัติงานที่ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง
- บ้านนาโต่ พื้นที่ปลูกชา 365 ไร่ เกษตรกร 62 ราย ผลผลิตชาแห้ง 5,720 กิโลกรัม
- บ้านแสนใจ พื้นที่ปลูกชา 282 ไร่ เกษตรกร 67 ราย ผลผลิตชาแห้ง 4,132 กิโลกรัม
อำเภอเทิง ไม่มีข้อมูลผู้ปลูกชา ศูนย์ฯ ได้ปฏิบัติงาน ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง
  - บ้านปางค่า, บ้านแม่ลอย,
บ้านต้นเขือง และบ้านโจ้โก้
พื้นที่ปลูกชา 78 ไร่ เกษตรกร 56 ราย ผลผลิตส่วนใหญ่ขายเป็นชาเมี่ยง

รวมข้อมูลชาอัสสัมทั้งหมด พื้นที่ปลูก 1,261 ไร่ เกษตรกร 245 ราย



      โดยศูนย์ได้ดำเนินการส่งเสริม และลงไปดำเนินการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่การปลูก การดูและรักษาและการอารักขาพืชพืชเชิงอนุรักษ์ที่ได้เข้าไปส่งเสริมตามพันธกิจที่ได้วางเอาไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ทั้งข้อที่ 1 ข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ในการศึกษาและพัฒนา ประยุกต์งานด้านการส่งเสริมการเกษตรบนพื้นที่สูง ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้พึ่งพาตนเองได้ และแก้ไขปัญหาตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่สูง จากนั้นนำมารวบรวมและจัดทำมาเป็นข้อมูลในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

โดยเลือกศึกษาเกี่ยวกับข้อมูลดินในพื้นที่ปลูกชาอัสสัม ในพื้นที่ปฏิบัติงาน
ศูนย์สาขาห้วยน้ำขุ่น 1000 ไร่ / 6 หมู่บ้าน / เกษตรกร 40 ราย
ศูนย์สาขาดอยผาหม่น 18 ไร่ / 2 หมู่บ้าน / เกษตรกร 7 ราย

3.1 ความเป็นมา
      การพัฒนาพื้นที่สูงนับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์มากสำหรับประชาชนบนพื้นที่สูงในภาคเหนือของประเทศไทย จากลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยหุบเขาขนาดใหญ่สลับซับซ้อน มีแนว และร่องน้ำลำห้วยเป็นตัวเชื่อมระหว่างหุบเขา ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ทำให้ชนิดของป่าที่ขึ้นปกคลุมมีความหลากหลายแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ป่าดิบเขา หรือป่าผลัดใบ พบอยู่ในพื้นที่สูงจกระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร ป่าผลัดใบจะพบในพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าลงมา พื้นที่เหล่านี้มีความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่สูงซึ่งหมายถึงพื้นที่มีความสูงตั้งแต่ 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป พื้นที่ทำการเกษตรในจังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 3,551,840 ไร่ หรือร้อยละ 48.66 ของเนื้อที่จังหวัด (รายงานสภาพการใช้ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน จังหวัดเชียงราย พ.ศ. 2555 กรมพัฒนาที่ดิน) ชุมชนบนพื้นที่สูงในจังหวัดเชียงราย ครอบคลุม 17 อำเภอ 57 ตำบล 813 หมู่บ้าน 47,581 ครอบครัว ประชากร 237,816 คน (ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 12. 2555)
      จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่าพื้นที่การปฏิบัติงานของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงราย (เกษตรที่สูง) นั้นประกอบด้วยภูมิประเทศที่หลากหลาย ทำให้การลงพื้นที่ปฏิบัติงานในแต่ละครั้งมีความยากลำบาก จำเป็นจะต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้ผลการทำงานที่ออกมาดีที่สุดในการลงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมแก่เกษตรกรในแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จึงยึดรูปแบบการทำงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร MRCF โดยกระบวนการจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์นั้น จัดอยู่ในหมวดแรกคือ M : Mapping คือการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตรียมเข้าทางานในพื้นที่โดยเน้นการใช้ข้อมูลแผนที่ ผู้ศึกษาจะนำชุดข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ มาประมวลผลเป็นระบบสารสนเทศ เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนและการใช้งาน
      เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงงานการจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สภาพดินในการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ที่มีศักยภาพในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย (ชาอัสสัม) เป็นโครงงานที่มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปใช้งานได้จริง จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการสำหรับประเมินผล จากสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่ได้จัดทำขึ้นมา ทั้งจากตัวผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และบุคคลทั่วไปที่จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้น เพื่อเป็นแนวทางในการลงพื้นที่ไปส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกรชาวไทยภูเขาต่อไป


3.2 วัตถุประสงค์
3.2.1 รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพดินในการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ที่มีศักยภาพในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย (ชาอัสสัม)
3.2.2 พัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สภาพดินในการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์ที่มีศักยภาพในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย (ชาอัสสัม)
3.2.3 ทดลองและประเมินความพึงพอใจในการใช้งานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่พัฒนาขึ้น

3.3 ขอบเขตของการศึกษา
      การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาการนำชุดข้อมูลจากการสำรวจคุณภาพดิน ในการสุ่มตัวอย่างพื้นที่การปลูกชาของเกษตรกรในพื้นที่การส่งเสริมของศูนย์ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงราย (เกษตรที่สูง) คือ ห้วยน้ำขุ่น ดอยผาหม่น ดอยตุง หัวแม่คำ และแม่ปูนหลวง โดยเน้นไปที่ตัวอย่างดินจากแปลงชาของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างจากศูนย์ห้วยน้ำขุ่น จำนวน 40 แปลง ระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 และข้อมูลผลการตรวจสอบดินจุดอื่นๆ ตามที่ศูนย์ได้ตรวจสอบและรายงานผลมายังผู้ศึกษา มาจัดทำเป็นสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงได้จากระบบอินเตอร์เน็ต แสดงผลข้อมูลอื่น ๆ ที่มีความสำคัญในการประเมินศักยภาพของแต่ละพื้นที่

3.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
3.4.1 เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูล จากการลงพื้นที่สำรวจพื้นที่การทำงานได้สะดวกและง่ายดาย ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
3.4.2 ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำข้อมูลมาทำเป็นสารสนเทศต่าง ๆ อาทิ สารสนเทศทางภูมิศาสตร์
3.4.3 เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในการประสานงานขอข้อมูลจากการทำวิจัยของเพื่อนร่วมการสหกิจ พัฒนามนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น
3.4.4 ได้ศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในพื้นที่การทำงาน ทั้งด้านกายภาพ และชีวภาพ
3.4.5 ได้ศึกษาและปฏิบัติจริงเกี่ยวกับการทำชุดข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการเผยแพร่ให้บุคคลที่สนใจเข้าศึกษา
กลับด้านบน